โครงการน้อมนำพระธรรมคำสอนตามหลักพุทธวจนสู่สถาบันการศึกษาแห่งชาติ (MOU)

MOU

      การดำเนินโครงการน้อมนำพระธรรมคำสอนตามหลักพุทธวจนสู่สถาบันการศึกษาแห่งชาติ ระหว่างองค์การคณะทำงานร่วมการปฏิบัติงานพัฒนาหมู่บ้านชนบทสนองแนวพระราชดำริ (คพร.) และเครือข่ายกับวัดนาป่าพง และเครือข่ายในประเทศและต่างประเทศ

หลักการและเหตุผล
      การเผยแพร่ พระธรรมคำสอนตามหลักพุทธวจน ไปสู่ประชาชนทุกหมู่เหล่าอย่างทั่วถึงทั้งในประเทศและต่างประเทศ ต้องอาศัยการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับองค์กรในประเทศ และระหว่างประเทศ ในการขับเคลื่อนให้การเผยแพร่พระธรรมคำสอนตามหลักพุทธวจน ไปสู่ยุทธศาสตร์ที่วางไว้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลได้อย่างต่อเนื่อง โดยยึดหลักการผสานประโยชน์และความชำนาญของเครือข่ายซึ่งกันและกัน ให้เกิดความร่วมมืออันดีในการสนับสนุนส่งเสริมการปลูกฝังด้านศีลธรรม จริยธรรม และคุณธรรมอันดีงามตามพระธรรมคำสอนให้แก่นักเรียน นิสิตนักศึกษา ข้าราชการ และประชาชนทุกหมู่เหล่าทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ได้มีโอกาสได้อ่านศึกษา ค้นคว้า เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตของตนเอง ตลอดจนสนับสนุนการจัดกิจกรรม โครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อันจะนำมาซึ่งการเอื้ออำนวยประโยชน์ทางด้านศีลธรรม จริยธรรมได้อย่างยั่งยืน
      องค์การคณะทำงานร่วมการปฎิบัติงานพัฒนาหมู่บ้านชนบท สนองแนวพระราชดำริ (คพร.) ได้ร่วมกับวัดนาป่าพงพร้อมกับเครือข่ายทั้งในประเทศ และต่างประเทศจึงร่วมการจัดทำโครงการน้อมนำพระธรรมคำสอนตามหลักพุทธวจนสู่สถาบันการศึกษาแห่งชาติ และโครงการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนองแนวทางพระราชดำริด้านศาสนา สาระธรรมสู่ประชาชน นอกไปจากความรู้ในด้านวิทยาการต่างๆ แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงการเผยแพร่ความรู้ในด้านคุณธรรมของศาสนา เพื่อให้เป็นแนวปฏิบัติของประชาชนทั่วไป ให้มีความสงบสันติในจิตใจ จึงทรงมีพระราชดำริในเรื่องของการนำธรรมเข้าสู่ปวงชน
     

       “…เรื่องวิธีการสอนธรรมะ หรือที่พุทธสมาคมใช้คำว่า “เผยแพร่หลักธรรมแห่งพระพุทธศาสนา…” ให้เข้าถึงบุคคลประเภทต่างๆ นั้น ความจริงมีปรากฏอยู่อย่างสมบูรณ์ในคัมภีร์ มีทั้งที่กล่าวไว้โดยตรงและโดยอ้อม ทั้งที่กล่าวโดยสรุปและโดยละเอียดพิสดารซึ่งเชื่อว่าท่านทราบกันดีอยู่แล้วว่าเป็นหลักวิชาการ ที่นำมาปฏิบัติให้ได้ผลจริงๆ ได้อย่างแน่นอน…หน้าที่ของท่านในการเผยแพร่หลักธรรมในพระพุทธศาสนา จึงอยู่ที่การเลือกเฟ้นข้อธรรมะและเลือกเฟ้น วิธีการสอน การใช้คำพูดที่เหมาะอธิบายหลักธรรมะ เทียบเคียงกับตัวอย่างที่เป็นของจริง จนเห็นชัดเจนได้ตามสภาพจิตใจของคนสมัยปัจจุบัน เพื่อช่วยให้แต่ละคนสามารถค้นหาและเข้าใจข้อธรรมะ ซึ่งจะนำมาใช้เป็นหลักการในการดำเนินชีวิตได้อย่างถูกต้องเหมาะสมตามฐานะของตนๆ …” (พระบรมราโชวาทพระราชทานเพื่อเชิญไปอ่านในพิธีเปิดการประชุมสมาคมพุทธศาสนาทั่วราชอาณาจักร ครั้งที่ ๔๕ ๓๐ กันยายน ๒๕๑๔, หน้า ๒๐๔.)

      ประกอบกับ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๒๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงมีพระราชดำริว่า…

     “…พุทธวจนะ อันเรียกว่า พระไตรปิฎกย่อมเป็นหนังสือที่ประมวลพระธรรมวินัยของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าซึ่งยังบริบูรณ์และตั้งมั่นอยู่ตราบใด ก็ย่อมเป็นหลักของพุทธบริษัทที่จะปฏิบัติให้เป็นสัมมาปฏิบัติ ถึงความงอกงามรุ่งเรืองอยู่ตราบนั้น…” (พระไตรปิฎกภาษาไทย พระบาลีสุตตันปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ฉบับเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี มหาเถรสมาคม จัดพิมพ์)

      นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงแถลงพระราชดำริที่จะบรรพชาอุปสมบทต่อมหาสมาคมอันประกอบด้วยพระบรมวงศานุวงศ์และคณะทูตานุทูตความตอนหนึ่งว่า…

“…โดยที่พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ดีศาสนาหนึ่ง เนื่องในบรรดาสัจธรรมคำสั่งสอนอันชอบด้วยเหตุผลจึงเคยคิดอยู่ว่าถ้าโอกาสอำนวย ข้าพเจ้าควรจักได้บวชสักเวลาหนึ่งตามราชประเพณี ซึ่งจักเป็นทางสนองพระเดชพระคุณแล้ว เห็นว่าน่าจะถึงเวลาที่ควรจะทำตามความตั้งใจไว้นั้นแล้วประการหนึ่ง อนึ่ง การที่องค์สมเด็จพระสังฆราชหายประชวรมาได้ในคราวประชวรครั้งหลังนี้ก่อให้เกิดความปีติยินดีแก่ข้าพเจ้ายิ่งนัก ได้มาคำนึงว่าถ้าใน
การอุปสมบทของข้าพเจ้า ได้มีองค์สมเด็จพระสังฆราชเป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วก็จักเป็นการแสดงออกซึ่งความศรัทธาเคารพในพระองค์ท่านของข้าพเจ้าได้อย่างเหมาะสมอีกประการหนึ่ง จึงได้ตกลงใจที่จะบรรพชาอุปสมบทในวันที่ ๒๒ เดือนนี้…”

      ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในด้านการศาสนา ที่พระองค์ทรงเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษา ปฏิบัติ และเผยแผ่หลักธรรมที่แท้จริงจากคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยตรงทางคณะทำงานฯ จึงได้ทำการศึกษา ค้นคว้าและเลือกเฟ้นพุทธวจน (คำสอนที่แท้จริงของพระศาสดา) จากพระไตรปิฎกนำมารวบรวมไว้ทั้งหมด อีกทั้งยังจัดหมวดหมู่ในประเด็นต่างๆ เพื่อให้เกิดความสะดวกสำหรับการศึกษาแก่ประชาชนในทุกๆ ระดับ รวมทั้งยังนำเทคโนโลยีร่วมสมัยมาใช้ประโยชน์ในการค้นคว้า ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงคำสอนของพระศาสดาได้ง่ายยิ่งขึ้น อีกทั้ง เป็นการช่วยรักษาพุทธวจน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ตั้งมั่นอยู่ได้ตราบนานเท่านาน และดำรงอยู่สำหรับชนรุ่นหลังสืบไป

วัตถุประสงค์
๑. เพื่อสนองแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงตระหนักถึงการเผยแพร่ความรู้ในด้าน
คุณธรรมของศาสนา
๒. เพื่อให้เป็นแนวปฏิบัติของประชาชนทั่วไปให้มีความสงบสันติในจิตใจ
๓. เพื่อลงนามความร่วมมือในการน้อมนำพระธรรมคำสอนตามหลักพุทธวจนสู่สถาบันการศึกษาแห่งชาติ
และโครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
๔. เพื่อขับเคลื่อนการเผยแผ่พระธรรมคำสอนตามหลักพุทธวจนและโครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
๕. เพื่อรักษาพุทธวจน ให้ตั้งมั่นอยู่ในพุทธศาสนาตราบนานเท่านาน

เป้าหมาย
๑. เป้าหมายเชิงปริมาณ
– องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น จำนวน ๗,๘๕๓ แห่ง แยกเป็น
(๑) องค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน ๗๖ แห่ง
(๒) เทศบาล จำนวน ๒,๔๔๐ แห่ง
(๓) องค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน ๕,๓๓๕ แห่ง
(๔) องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ จำนวน ๒ แห่ง
(กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา)
– สถานศึกษา ระดับมหาวิทยาลัย วิทยาลัย ในเครือข่าย คพร. จำนวน ๕๐ แห่ง
– วิทยาลัยชุมชนทั่วประเทศ จำนวน ๒๐ แห่ง
– โรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัดทั่วประเทศ จำนวน ๗๖ แห่ง

๒. เป้าหมายเชิงคุณภาพ
๒.๑ ในประเทศไทย น้อมนำพระธรรมคำสอนตามหลักพุทธวจนสู่สถาบันการศึกษาแห่งชาติ และเผยแผ่
หนังสือพุทธวจน ไปทุกส่วนราชการ ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ
๒.๒ ในต่างประเทศ น้อมนำพระธรรมคำสอนตามหลักพุทธวจนสู่สถาบันการศึกษานานาชาติ และเผยแผ่
ไปยังเครือข่ายต่างๆ ในทุกภูมิภาคของโลก

วิธีดำเนินการ แบ่งออกเป็น ๓ ระยะ
ขั้นที่ ๑ ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ เพื่อเตรียมความพร้อม และการนำร่องโครงการ
ขั้นที่ ๒ การดำเนินการเผยแผ่หลักธรรมคำสอนตามหลักพุทธวจน ตามกลุ่มเป้าหมาย
ขั้นที่ ๓ การติดตามและประเมินผล

กิจกรรมที่ดำเนินการ
ก. โครงการน้อมนำพระธรรมคำสอนตามหลักพุทธวจนสู่สถาบันการศึกษาแห่งชาติ
ระยะนำร่องโครงการ (ดำเนินการแล้ว)
๑.๑ ส่วนราชการระดับกระทรวง คือ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ไว้ประจำห้องสมุดกระทรวง
๑.๒ ส่วนราชการระดับกรม คือ อธิบดีกรมการค้าภายใน ไว้ประจำห้องกรมการค้าภายใน
๑.๓ ส่วนราชการ
ข. โครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง : ร่วมกันดำเนินการแบบคู่ขนานกับโครงการ ก. หรือในลักษณะ (DualTrack) ทั้งในด้านเชิงรุก และเชิงรับ

ระยะดำเนินการ
ปีพุทธศักราช ๒๕๕๗ – ๒๕๖๒

สถานที่ดำเนินการ
จัดตั้งศูนย์ประสานงานร่วมดำเนินโครงการ ณ วัดนาป่าพง ที่ตั้ง เลขที่ ๒๙ หมู่ ๗ ตำบล บึงทองหลาง อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี

วิธีการบริหารจัดการโครงการและบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ
องค์การคณะทำงานร่วมการปฎิบัติงานพัฒนาหมู่บ้านชนบท สนองแนวพระราชดำริ (คพร.) ร่วมกับวัดนาป่าพง และเครือข่ายในประเทศและต่างประเทศ จึงได้มีการจัดทำบันทึกความร่วมมือเพื่อร่วมกันกำหนดเป็นนโยบายในการขับเคลื่อนโครงการ โดยกำหนดภารกิจการดำเนินการร่วมกัน ซึ่งมีสาระสำคัญคือ จะร่วมกันขับเคลื่อนโครงการไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยวิธีบริหารงานแบบองค์รวม (Holistic Management) และการทำงานทั้งเชิงรุกและเชิงรับร่วมกันตลอดทั้งโครงการ ภายใต้เป้าหมาย และกรอบระยะเวลาที่วางไว้