โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านสิ่งแวดล้อม
ปัญหา เรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นปัญหาที่มีความสำคัญควบคู่กับการพัฒนาความเจริญก้าวหน้าซึ่งเป็นปัญหาร่วมกัน ของทุกประเทศ กล่าวคือ การพัฒนายิ่งรุดหน้าปัญหาคุณภาพ สิ่งแวดล้อม และภาวะมลพิษก็ยิ่งก่อตัว และทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่กำลังประสบกับปัญหาดังกล่าวอยู่ในขณะนี้ ทั้งนี้เพราะการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาให้ความสำคัญกับอัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยการนำเอาทรัพยากรมาใช้ประโยชน์แต่ไม่ได้มีการวางแผนการจัดการที่เหมาะสมเพื่อรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้น ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติที่เหลืออยู่มีสภาพเสื่อมโทรมลง โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริส่วนใหญ่จะเป็นวิธีการที่จะทำนุบำรุง และปรับปรุงสภาพทรัพยากร และสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นในด้านต่างๆ อาทิเช่น การอนุรักษ์ และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ และป่าไม้ ซึ่งมีสาระโดยสรุป ดังนี้คือ
1. ด้านการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรดิน ในช่วงระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา การเพิ่มผลผลิต และรายได้ของ ประเทศมาจากการขยายพื้นที่การเพาะปลูกมากกว่า การเพิ่มผลผลิตต่อหน่วยพื้นที่ จนถึงขณะนี้ประมาณได้ว่าพื้นที่ ที่เหมาะสมต่อการเกษตรกรรมได้ใช้ไปจนเกือบหมด และเกษตรกรพยายามหาพื้นที่ชดเชยด้วย การอพยพโยกย้ายเข้าไปอยู่กระจัดกระจายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่ป่าไม้ ถูกทำลายเพิ่มจำนวนมากขึ้น เพราะการใช้ที่ดิน กันอย่างขาดความระมัดระวัง และไม่มีการบำรุงรักษาซึ่งทำให้เกิดความเสื่อมโทรมทั้งด้านเคมี และกายภาพ ปัญหาเหล่านี้หากไม่ได้รับการแก้ไขย่อมส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศเป็นอย่างมาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีีแนวพระราชดำริเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องของดิน ทั้งในแง่ของการปัญหาดินที่เสื่อมโทรม ขาดคุณภาพ และการขาดแคลน ที่ดินทากินสาหรับเกษตรกร ดังนี้
1.1 สนับสนุนให้เกษตรกรเรียนรู้เข้าใจวิธีการอนุรักษ์ดินและน้ำ การปรับปรุงบำรุงดิน และสามารถนำไปปฏิบัติได้เอง มีพระราชดำริว่า “..การปรับปรุงที่ดินนั้นต้อง อนุรักษ์ผิวดิน ซึ่งมีความสมบูรณ์ ไว้ไม่ให้ไถ หรือลอกหน้าดินทิ้งไป สงวนไม้ยืนต้นที่ยังเหลืออยู่ เพื่อที่จะรักษาความชุ่มชื่นของผืนดิน…” ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์ศึกษา การพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจาก พระราชดาริ เพื่อทำการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับการสร้างระบบอนุรักษ์ดิน และน้ำ เป็นตัวอย่างในการป้องกันการชะล้าง พังทลายของดิน การขยายพันธุ์พืช เพื่ออนุรักษ์ดินและบำรุงดิน ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ก็มีวัตถุประสงค์หลักในการศึกษา และพัฒนาพื้นที่พรุ ซึ่งเป็นดินเปรี้ยวให้เป็นดินที่มีคุณภาพ สามารถทำการเพาะปลูกได้ ตลอดจนการ ทำแปลงสาธิตการพัฒนาที่ดินแก่เกษตรกรรม ในบางพื้นที่มีปัญหาในการพัฒนาปรับปรุงดินเสื่อมโทรมด้วยสาเหตุต่าง ๆ เช่น ดินเปรี้ยว ดินเค็ม ดินทราย ฯลฯ ทั้งนี้ เพื่อให้พื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องดินทั้งหลายสามารถใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้อีก
1.2 การจัดสรรและปฏิรูปที่ดิน พัฒนาที่ดินว่างเปล่าแล้วจัดสรร ให้เกษตรกรที่ไร้ที่ทำกินได้ประกอบอาชีพในรูปของหมู่บ้านสหกรณ์ ทั้งนี้โดยให้สิทธิทำกินแต่ไม่ให้กรรมสิทธิ์ในการถือครอง พร้อมกับจัดบริการพื้นฐานให้ความเหมาะสม นอกจากนี้ยังมีการจัดพื้นที่ทำกินให้ราษฎรชาวไทยภูเขา ให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้เป็นหลักแหล่งโดยไม่ต้องทาลายป่าอีกต่อไป ในการจัดพื้นที่ต่างๆ ดังกล่าวนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีหลักการว่า ต้องการ วางแผนการจัดให้ดีเสียตั้งแต่ต้น โดยใช้แผนที่ และภาพถ่าย ทางอากาศช่วย การจัดสรรพื้นที่ทำกิน ควรจัดสรร ตามแนวพื้นที่รับน้ำจากโครงการชลประทานเป็นหลัก ปัญหาการขาดแคลนที่ดินทากินของเกษตรกร เป็นปัญหา สำคัญยิ่งในปัจจุบัน ด้วยพระอัจฉริยะในการแก้ปัญหาจึงได้พระราชทาน “ทฤษฎีใหม่” ให้ดำเนินการในพื้นที่ทำกินที่มีขนาดเล็ก ประมาณ 15 ไร่ ด้วยวิธีการจัดสรรที่ดินให้เหมาะสม มีแหล่งน้ำในที่ดินสำหรับการทาการเกษตร แบบผสมผสานอย่างได้ผล เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ใช้จ่ายตลอดปี ซึ่งได้ดำเนินการอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2534 ได้พระราชทานพระราชดำริ เกี่ยวกับหญ้าแฝกเป็นครั้งแรกกับ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการ กปร. ในขณะนั้นว่าให้ทำการศึกษาทดลองปลูกหญ้าแฝก เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน และอนุรักษ์ความชุ่มชื้นไว้ในดินเพราะขั้นตอนการดำเนินงานเป็นวิธีการแบบง่ายๆ ประหยัด และที่สำคัญ คือ เกษตรกรสามารถดำเนินการเองได้โดยไม่ต้องให้การดูแล ภายหลังการปลูกมากนัก และได้พระราชทานพระราชดำริอีกหลายครั้ง เกี่ยวกับการนำหญ้าแฝกมาใช้ประโยชน์ในลักษณะต่างๆ การดำเนินโครงการต่างๆ ดังกล่าวนี้ ทรงเน้นอยู่เสมอว่ากระบวนการพัฒนาที่ดินทั้งหมดนี้จะต้องชี้แจงให้ราษฎรซึ่งเป็นผู้ได้รับประโยชน์ มีส่วนร่วมและลงมือลงแรงด้วย
2. ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรแหล่งน้ำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบดีว่าประชาชนส่วนใหญ่ของพระองค์ท่านมีอาชีพทางการเกษตรและอาศัยน้ำฝน จึงทรงเน้นการอนุรักษ์ และพัฒนาแหล่งน้ำเป็นพิเศษ และทรงโปรดให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ที่อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับรูปแบบที่เหมาะสมของการพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำลำธาร เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจรวมทั้งรูปแบบการพัฒนาต่างๆ ที่ทำให้เกษตรกรพึ่งตนเองได้โดยไม่ต้องทำลายสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนที่สนใจเข้าไปศึกษาและนำไปใช้ในการประกอบอาชีพได้โดยที่มีการอนุรักษ์ต้นน้ำ และพัฒนาป่าไป พร้อมๆ กัน สุดท้ายความชุ่มชื้นก็จะเกิดขึ้น และจะบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคในที่สุด นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักและห่วงใยในปัญหามลพิษจากน้ำเน่าเสียของประเทศที่มีปริมาณสูงขึ้น จนยากแก่การแก้ไขให้บรรเทาเบาบางลงได้ จากการที่พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสภาพน้ำเน่าเสียในพื้นที่หลายๆ แห่ง ทั้งใน กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และ ต่างจังหวัด จึงได้พระราชทานพระราชดำริในการแก้ไขน้ำเสียด้วยการประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศ ที่เรียกกันว่า “กังหันน้ำชัยพัฒนา” เพื่อใช้ในการบำบัดน้ำเสียที่เกิดจากแหล่งชุมชนและแหล่งอุตสาหกรรม
3. ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ป่าไม้เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่อำนวยประโยชน์ทั้งทางตรง และทางอ้อมให้แก่มนุษยชาติ ควบคุมสภาพดินฟ้าอากาศให้อยู่ในสภาพปกติ รักษาต้นน้ำลำธาร พันธุ์พฤกษชาติ และสัตว์ป่า อีกทั้งยังเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ ป่าไม้เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มนุษย์ได้บริโภคใช้สอยประกอบอาชีพด้านการทำป่าไม้ เก็บของป่า การขนส่ง การอุตสาหกรรม การผลิตไม้ แปรรูป และผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่ใช้วัตถุดิบจากไม้ และของป่า แต่สภาพปัจจุบันประชากรไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงเป็นแรงผลักดันให้เกิดการบุกรุกทำลายป่าไม้เพื่อบุกเบิกพื้นที่ทากิน ลักลอบตัดไม้ป้อนโรงงานอุตสาหกรรม และเผ่าถ่าน นอกจากนี้ การเร่งการดำเนินงาน บางโครงการ เช่น การก่อสร้างถนน สร้างเขื่อน ฯลฯ ทำให้มีการตัดไม้ โดยไม่คำนึงถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ป่าไม้จึงมีเนื้อที่ลดลงตามลำดับ และบางแห่งอยู่ในสภาพเสื่อมโทรมเป็นอย่างมาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเล็งเห็นความสำคัญของป่าไม้โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดปัญหาฝนแล้ง น้ำท่วม ดังที่ประเทศไทย ประสบอยู่ในขณะนี้ มีสาเหตุสำคัญมาจากการทำลายป่า พระองค์จึงทรงมีพระราชหฤทัยมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปรับปรุง และพัฒนาป่าให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ดังเดิม จากแนวพระราชดำริของพระองค์ ก่อให้เกิดโครงการพัฒนาและบำรุงป่าไม้จำนวนมากมายทั่วประเทศ โดยเฉพาะป่าไม้ที่เป็นต้นน้ำลำธารให้คงสภาพอยู่เดิมเพื่อป้องกันอุทกภัยต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น ในขณะเดียวกันก็ถนอมน้ำไว้ใช้สำหรับหล่อเลี้ยงแม่น้ำลำธารด้วย เช่น โครงการพัฒนาพื้นที่ห้วยลานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น